เกณฑ์การจ้างงานขั้นสูง
เราจะสร้างเกณฑ์มาตรฐานการจ้างงานได้อย่างไร จำเป็นหรือไม่ที่บริษัทจะต้องระบุเกณฑ์การจ้างงานของตนเองออกมาให้ผู้สัมภาษณ์ได้รู้อย่างชัดเจน หรือจะปล่อยให้ผู้สมัครต้องคิดเอาเอง และที่สำคัญบริษัทส่วนใหญ่มีเกณฑ์การจ้างงานของตนเองหรือไม่ บางบริษัทมอบหมายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องพัฒนาเกณฑ์การจ้างงานสำหรับตนเอง หรืออาจปล่อยให้ผู้บริหารแต่ละท่านหาเกณฑ์การจ้างงานกันเอง ผู้ทำการสัมภาษณ์บางคนก็ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ซึ่งเห็นได้จากการตั้งคำถามสัมภาษณ์อย่างไร้ทิศทาง ผลที่ตามมาก็คือ ผู้สัมภาษณ์ได้ข้อมูลไม่ตรงประเด็น หรือไม่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจที่ถูกต้อง

การตั้งเกณฑ์การจ้างงานไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกบริษัทต้องการพนักงานที่มีความสามารถสูง แต่ทำอย่างไรถึงจะตัดสินใจจ้างงานได้ถูกต้อง บางบริษัทก็มีเกณฑ์การจ้างงานที่สูงเกินไปและบางครั้งก็ไม่เป็นรูปธรรม
 
จากบันทึกส่วนตัวของผมที่เริ่มเขียนตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2537 ผมได้ตั้งเกณฑ์การจ้างงานให้ครอบคลุมคุณสมบัติของผู้สมัครดังต่อไปนี้ คือ ความเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบ ความทะเยอทะยานและแรงขับในชีวิต พลังในการทำงาน ความสามารถที่จะจัดการกับความกดดัน การทำงานเป็นทีม วิสัยทัศน์ ความเชื่อ และคุณค่าส่วนตัว ซึ่งหมายถึงการพิจารณาว่า พนักงานคนนั้นเป็นคนดีหรือไม่

นับแต่ตอนนั้นถึงปัจจุบัน เราไม่สามารถตอบโจทย์มากมายเหล่านี้ได้ง่ายนัก ดังนั้นในปี 2539 เราจึงได้ลดทอนหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ลงเหลือเพียง 3 เกณฑ์ใหญ่ ๆ คือ แรงขับสู่ความสำเร็จขั้นสูงสุด ความสามารถในการทำงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต และสิ่งสุดท้ายคือ ทัศนคติต่อคน งาน และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากเรามองเห็นว่าผู้สมัครไม่สามารถตอบโจทย์ทั้ง 3 ประเด็นหลักนี้ได้เป็นที่น่าพอใจ ก็จะไม่มีการว่าจ้างงานเกิดขึ้น

แรงขับสู่ความสำเร็จ
จากประสบการณ์ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ว่าแรงขับสู่ความสำเร็จของมนุษย์ เป็นเครื่องแสดงได้ว่าคน ๆ นั้นสามารถไปได้ไกลเพียงใด แรงขับนี้จะเป็นตัวกำหนดก้าวย่างต่างๆ ในชีวิต คนเราสามารถจะเป็นอะไรก็ได้แทบทั้งนั้นถ้าเรามีความปรารถนาที่แรงกล้าพอ งานที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ก็สำเร็จลงได้เพราะมนุษย์มีแรงขับอันกล้าแกร่ง การเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ คงเป็นไปไม่ได้หากคนเราไม่มีแรงขับเพียงพอที่จะทำสิ่งนั้นอยู่ในใจ

ถ้ามองดูคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เราจะเห็นว่าความสำเร็จของพวกเขามีรากฐานมาจากแรงขับสู่ความสำเร็จนั่นเอง เขาเหล่านั้นล้วนได้รับแรงบันดาลใจที่อยากจะเป็นคนสำคัญ หรือทำอะไรสักอย่างในชีวิต ความใฝ่ฝันที่จะเป็น หรือทำอะไรสักอย่าง มักเป็นการเดินทางที่เริ่มต้นตั้งแต่เราเป็นเด็กเล็ก ๆ แรงขับที่คุณมีจะผลักดันคุณให้ก้าวไปข้างหน้า การมีชีวิตอยู่รอดและมีชัยชนะในชีวิตที่วุ่นวายแล้วเต็มไปด้วยการแข่งขันได้ เราต้องมีแรงขับอยู่ในใจ

ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เราได้พบเห็นคนที่มีความรู้ และมีความสามารถมากมายที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะเขาไม่มีแรงขับเพียงพอที่จะผลักดันเขาไปให้ถึงจุดหมาย บางคนที่มีชีวิตรอดในสังคมอาจจะไม่มีอะไรเลย ทั้งความรู้ ความสามารถ หรือแม้แต่ความสามารถ หากแต่เขามีแรงขับมากพอที่จะทำให้เขามีชีวิตรอดได้ ดังนั้น ในการจ้างงาน เราจึงต้องตรวจสอบแรงขับในใจของผู้สมัครแต่ละคน ว่ากล้าแกร่ง และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และวัฒนธรรมของบริษัทเราหรือไม่

ความสามารถสำหรับการทำงานในปัจจุบันและอนาคต
ความสามารถคือศักยภาพของมนุษย์ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ เราจึงต้องการผู้ที่มีความสามารถมากที่สุดมาทำงาน เพื่อที่ว่าเราจะสามารถเติบโตเร็วกว่าคนอื่นๆ เราต้องการคนที่เหมาะสมสำหรับการทำงานระยะยาว เราจึงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนทุกขั้นตอนเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งประวัติย่อที่ตรงตามคุณสมบัติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่ว่าเราจะได้มีทางเลือกมาก และผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดจึงจะได้ตำแหน่งนั้นไป

อย่างไรก็ตาม บริษัทบางแห่งรู้สึกว่าตนเองสู้บริษัทที่ใหญ่กว่าหรือมีชื่อเสียงมากกว่าไม่ได้ และไม่สามารถดึงดูดผู้สมัครที่เก่งๆ และมีคุณสมบัติครบถ้วนได้ ในทำนองเดียวกัน บริษัทที่มีชื่อเสียงกว่าก็อาจจะมีความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า พวกเขาจะต้องได้ผู้สมัครที่ดีที่สุด เพราะเขามีชื่อเสียงกว่า

บริษัทก็เหมือนกับคน คือ มีความเท่าเทียมกันโดยพื้นฐาน การจัดลำดับของบริษัทจึงไม่ได้ดูจากผลกำไร ชื่อเสียง หรือภาพลักษณ์ภายนอก หากแต่เราจัดอันดับบริษัทโดยดูจากการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพนักงานของบริษัท บริษัทที่มีชื่อเสียง มั่นคง และใหญ่โตนั้นเป็นผลมาจากจำนวนผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวกับพนักงานเลย ดังนั้นคำถามสำคัญที่เราควรถามคือ คุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานในแต่ละบริษัทคืออะไร เราไม่ได้เปรียบเทียบชีวิตของพนักงานจากฐานรายได้ เหมือนที่เราไม่ได้วัดบริษัทจากผลกำไร ทุกคนต้องการความสุขและสมควรได้รับสิ่งนั้น โดยไม่จำเป็นว่า พนักงานคนนั้นทำงานให้กับบริษัทใด สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับนโยบายทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทที่จะต้องสร้างคุณภาพชีวิตของพนักงานของตน

กลับมาที่เรื่องของเกณฑ์...
ความสำเร็จคือเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้วัดความสามารถของคน ดังนั้นเมื่อเราเชื่อมั่นว่าเกณฑ์การให้คะแนนของมหาวิทยาลัยนั้นดี และได้มาตรฐานอยู่แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องหาวิธีการทดสอบอย่างอื่นอีก เพราะระบบการให้คะแนนของมหาวิทยาลัยสามารถบอกได้ว่า คนที่ได้เกรดที่สูงกว่าแสดงให้เห็นความสามารถของเขาที่จะเข้าใจ วิเคราะห์ และจัดการงานต่าง ๆ รวมทั้งแสดงระดับความรับผิดชอบของคน ๆ นั้นที่มากกว่าคนอื่นๆ การสอบโดยเฉลี่ยประมาณ 50 ครั้งในระหว่างการเรียน 4 ปีในมหาวิทยาลัยน่าจะเพียงพอที่จะวัดความสามารถที่แท้จริง เพราะในมหาวิทยาลัย พวกเขาต้องพึ่งตนเอง ผ่านการทดสอบที่ไม่ใช่เพียงการทดสอบภายใต้สถานการณ์เฉพาะที่บริษัทจัดขึ้นเท่านั้น สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงาน ความสำเร็จในที่ทำงานเป็นเรื่องสำคัญ เรียกได้ว่าสำคัญสำหรับเรามากกว่าประสบการณ์ทำงานเป็นปี ๆ เพราะความสำเร็จแสดงว่าคน ๆ นั้นจะพัฒนาได้ไกลเท่าไร การพัฒนาในอนาคตเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากความสามารถที่เขามีในปัจจุบันแล้ว เรายังต้องมองศักยภาพในอนาคตของเขาด้วย

ระหว่างการสัมภาษณ์ เราจะพยายามให้ผู้สมัครขายจุดเด่นของตนเองให้ได้ โดยให้โอกาสเขาได้เล่าเรื่องราวของตัวเอง และเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงสมควรได้รับเลือกให้มาทำงานกับเรา เรากลับไม่นิยมจัดวิธีการทดสอบอย่างเป็นทางการ เพราะเราไม่เชื่อว่าวิธีการทดสอบจะสามารถตัดสินความสามารถของผู้สมัครและบอกได้ว่าเขาเต็มใจจะทุ่มเทให้กับงานของบริษัทมากน้อยเพียงไร แต่เราใช้วิธีการสัมภาษณ์ เราต้องการให้เขาบอกเราว่าเขามองว่าตัวเขาเป็นอย่างไร เพราะเขาเท่านั้นที่จะพูดเรื่องนี้ได้ดีกว่าใคร น่าเสียดายที่ผู้สมัครส่วนใหญ่ไม่เตรียมตัวให้พร้อมตอบคำถามแบบนี้ เรารู้ว่าแต่ละคนต้องใช้เวลาคิด พิจารณาให้ดีก่อนจึงจะตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทัศนคติต่อผู้คน งาน และสิ่งแวดล้อม
ทัศนคติเป็นตัวชี้นำชีวิตคน การตัดสินใจทั้งหมดของเราตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจที่เรามีต่อคน งานและสิ่งแวดล้อมของเรา ความสามารถเป็นสิ่งสำคัญ แต่ทัศนคติเป็นตัวควบคุมทิศทางของความสามารถอีกที บางครั้งคนที่มีความสามารถก็ล้มเหลวเอาง่าย ๆ เพราะไม่มีทัศนคติที่ดีที่จะทำให้ใช้ความสามารถเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง

เรามักจะพบคนที่มีความสามารถได้ง่ายกว่าคนที่มีทัศนคติที่ดี บางครั้งคนที่มีความสามารถที่สุดก็ไม่ใช่คนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตำแหน่งที่ว่าง เพราะเขาอาจมีปัญหาอื่นที่เห็นได้ชัดในที่ทำงาน อาทิ การยึดตัวเองเป็นหลักโดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่น การมีทัศนคติที่ดีเลิศเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันทำหน้าที่เป็นตัวบ่งบอกพื้นฐานจิตใจของคนเรา

บางครั้ง เราสามารถหาคนที่มีทัศนคติที่ดีได้ โดยพิจารณาจากงานอดิเรกและความสนใจของเขา แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราพิจารณาด้วยก็คือ ความสัมพันธ์กับเพื่อนและผู้ร่วมงาน หากบริษัทได้พนักงานที่มีทัศนคติที่ดี ความขัดแย้งและปัญหาเรื่องการเมืองที่ไม่จำเป็นในบริษัทจะลดลงได้มาก

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างทัศนคติกับแรงขับแล้ว ทัศนคติมีน้ำหนักมากกว่า เพราะคนที่มีทัศนคติที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแนวการทำงาน จะทำให้ผู้สัมภาษณ์ประทับใจได้ดีกว่า เรามักจะอยากทำงานกับคนที่เรารู้สึกว่าเราสามารถทำงานด้วยได้


 
 

 


Copyright 2001 - Vichien Shnatepaporn, All Rights Reserved.
No part of this article may be reproduced, stored in a retrieval system, or transmitted in any form, or by any means, electronic, mechanical, photocopying, recording, or otherwise, without permission.