การศึกษา
เรามักจะเห็นว่า ผู้สมัครที่มีคะแนนเฉลี่ย (GPA) สูง มักจะมีแนวโน้มที่จะทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าคนอื่นๆ เนื่องจากระดับความรู้ความสามารถของเขา แต่ในขณะเดียวกัน บุคคลเหล่านี้ก็อาจมีแนวโน้มที่จะทำงานได้แย่กว่าคนอื่นๆ อันเป็นผลเนื่องมาจากทัศนคติของเขาเอง ดังนั้นคงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะตีความผลการเรียนของผู้สมัครได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังเป็นเรื่องยากที่จะตั้งเกณฑ์การจ้างงานจากข้อมูลการศึกษา เราจึงควรให้ความสนใจวิธีการตีความคะแนนเฉลี่ยอย่างระมัดระวัง และหาวิธีการจัดการกับเรื่องนี้ด้วยวิธีการของเราเอง

การศึกษาคือพื้นฐานของความรู้ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของผู้สมัคร ระดับของการศึกษาบ่งบอกศักยภาพในการเตรียมพร้อมของผู้สมัครก่อนจะลงมือประกอบอาชีพ ปริญญาโทมักจะมีภาษีดีกว่าปริญญาตรีในแง่การฝึกฝนทางวิชาการ

 

และผลจากการได้รับการฝึกฝนทางวิชาการก็คือ ผู้สมัครมักมีความคิดเป็นระบบมากกว่า
ประเทศที่ผู้สมัครจบการศึกษาทั้งหลายเช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย หรือประเทศไทย และชื่อของสถาบันการศึกษาเช่น มหาวิทยาลัย Harvard มหาวิทยาลัย South Queensland จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นเครื่องมือบอกระบบการศึกษาที่ผู้สมัครคนนั้นได้รับมา การศึกษาในประเทศที่มีระบบการศึกษาที่มีชื่อเสียงนั้นจะน่าเชื่อถือกว่า และชื่อของมหาวิทยาลัยก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยระดับหนึ่งในสิบ หรือหนึ่งในห้าของประเทศ และฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ เป็นเกณฑ์ในการให้น้ำหนักคะแนนเฉลี่ยของผู้สมัครนั้นๆ

คณะหรือวิชาเอกที่ผู้สมัครเลือกเรียนก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะว่าถือเป็นความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตำแหน่งงานที่มีอยู่ ผู้สมัครที่จบการศึกษาด้านการตลาด คณะบริหารธุรกิจ ก็น่าจะเหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดมากกว่าผู้ที่ไม่ได้จบมาทางนี้ ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลส่วนใหญ่จะยึดกับแนวโน้มที่ว่านี้ และตำแหน่งส่วนใหญ่ที่มีก็มักจะต้องการผู้สมัครที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกัน มากกว่าผู้ที่จบจากสาขาอื่น

เกรดเฉลี่ยบอกอะไรเราได้
เกรดเฉลี่ยส่วนใหญ่จะแบ่งเป็นระดับใหญ่ๆ 4 ระดับคือ ดีมาก (A) ดีกว่ามาตรฐาน(B) ตามมาตรฐาน(C) และต่ำกว่ามาตรฐาน (D) ซึ่งระยะเวลา 4 ปีกับการสอบมากมายถึงประมาณ 50 ครั้ง ก็น่าจะเพียงพอในการวัดความสำเร็จของผู้สมัคร อย่างไรก็ดี เกรดเฉลี่ยยังสามารถให้ข้อมูลเหล่านี้กับฝ่ายทรัพยากรบุคคล

1) ระดับสติปัญญา : เกรดเฉลี่ยบอกแนวโน้มว่าผู้สมัครคนนั้นมีความสามารถเพียงใดในการแก้ไขปัญหา และมีการตัดสินใจได้ดีเพียงใด
2) ความขยันหมั่นเพียร : เกรดเฉลี่ยบอกได้ว่าผู้สมัครคนนั้นมีความมานะ อดทน และทุ่มเทเพียงใด
3) การพยายามที่จะเป็นเลิศ : เกรดเฉลี่ยจะบอกได้ว่าผู้สมัครจะสามารถไปได้ไกลเท่าไร
4) สำนึกในบทบาท / ความรับผิดชอบของตน : เกรดเฉลี่ยจะบอกว่าผู้สมัครมีความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของ ตนเพียงใด ระหว่างศึกษาเล่าเรียน
5) ความชอบการแข่งขัน : คะแนนเฉลี่ยเป็นหนทางหรือโอกาสในการเอาชนะคนอื่น
6) ความสามารถในการสื่อสาร : ความสามารถในการเข้าใจบทเรียนก็น่าจะเกี่ยวโยงกับความเข้าใจงาน ที่ตนได้รับมอบหมาย

สำหรับผู้ที่คะแนนเฉลี่ยไม่ดี
1) งานส่วนใหญ่ไม่ได้สำเร็จได้ด้วยซูเปอร์แมน หรือ ซูเปอร์เกิร์ล งานโดยมากก็ต้องการเพียงคนที่มีความสามารถตามเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้นฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องมองหาผู้สมัครที่มีความสามารถเหนือธรรมดา
2) เกรดเฉลี่ยไม่ใช่ข้อมูลอย่างเดียวที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะพิจารณา แต่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องพิจารณาด้วยว่าบุคคลนั้นๆ จะสามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของบริษัทได้หรือไม่
3) ไม่ว่าคะแนนเฉลี่ยของคุณจะดีหรือไม่ ในที่สุดคุณก็จะได้งานที่เหมาะสมกับคุณอย่างแน่นอน


ใบแจ้งผลการเรียนก็ช่วยประกอบการพิจารณาได้
ใบแจ้งผลการเรียนจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาหรือวิชาที่ศึกษาของคนนั้นๆ ระยะเวลาก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่เราควรพิจารณา บางครั้งเราจะเห็นว่าผู้สมัครเรียนได้ไม่ดีในปีหรือสองปีแรก แต่กลับพัฒนาขึ้นมาได้มากในปีที่สามและปีที่สี่ ใบแจ้งผลการเรียนยังสามารถแสดงให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของผู้สมัครในการเรียนวิชาแต่ละวิชา คนบางคนมีความสามารถในวิชาบางวิชา และไม่มีเอาเสียเลยในวิชาอื่นๆ การศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่สามารถครอบคลุมทักษะทั้งหมดที่จำเป็นในการทำงานจริง ดังนั้นฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงไม่ควรจะให้คะแนนเฉลี่ยมาเป็นเครื่องวัดและตัดสินผู้สมัครโดยไม่สนใจ ความสามารถของผู้สมัคร พยายามอ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ผู้สมัครเขียนเพื่อดูว่าผู้สมัครอธิบายตนเองว่าอย่างไร หากว่าคะแนนเฉลี่ยไม่สูงนัก อย่างน้อยหากผู้สมัครสามารถได้เกรด A ในบางวิชาก็น่าจะเพียงพอ เพราะเกรด A ไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาง่ายๆ ดังนั้นเกรด A จึงแสดงถึงความสามารถของผู้สมัครในรายวิชานั้นๆ และแสดงให้เห็นถึงระดับความสำเร็จของผู้สมัคร ผู้สมัครบางคนอาจไม่เคยได้เกรด A เลย ซึ่งหมายความว่าหากตำแหน่งงานที่มี ไม่ต้องการคนที่มีความสำเร็จระดับสูง ก็อาจจะเหมาะสมกับผู้สมัครดังกล่าว

วิธีการที่ผู้สมัครได้มาซึ่งคะแนนเฉลี่ยก็สำคัญเหมือนกัน
ในส่วน "จุดแข็งของผู้สมัคร" ของ Super Resume นั้นยังบอกด้วยว่าผู้สมัครได้ผลการเรียนเหล่านั้นมาได้อย่างไร ไม่มีอะไรได้มาเปล่าๆ ผู้สมัครมักต้องเสียบางสิ่งบางอย่างไปเพื่อให้ได้ผลการเรียนดีๆ แล้วผู้สมัครจะต้องเสียอะไรไปบ้าง ตามปกติผู้ที่ได้คะแนนดีมักจะเสียเวลาในการสนุกกับงานอดิเรก หรือความสนใจของตนที่จะช่วยเปิดโลกทัศน์ของผู้สมัครไป เขามักจะไม่มีเวลาให้เพื่อน และสังคมรอบข้าง ดังนั้น เราอาจจะยังไม่สามารถแน่ใจในทักษะการเข้าสังคมของผู้สมัคร เราจึงต้องพยายามหาให้เจอ และเราอาจจะเจอจุดอ่อนบางประการของผู้สมัครที่ไม่ได้แสดงออกมาแต่แรกก็ได้

 
 

 


Copyright 2001 - Vichien Shnatepaporn, All Rights Reserved.
No part of this article may be reproduced, stored in a retrieval system, or transmitted in any form, or by any means, electronic, mechanical, photocopying, recording, or otherwise, without permission.